Food Safety หรือ ความปลอดภัยในอาหารเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ปัจจัยสำคัญคือเมื่ออาหารหรือเครื่องดื่มออกมาถึงผู้บริโภคแล้วจะต้องไม่สร้างอันตราย ไร้สิ่งปนเปื้อนทั้งจากทางกายภาพ ชีวภาพ และเคมี นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เหล่าบรรดาโรงงานผลิตและนำเข้าเคมีอาหารจำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดพร้อมปฏิบัติตามด้วยความเคร่งครัด เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และลดความเสี่ยงได้แบบรอบด้าน
ทำไม Food Safety ถึงมีความสำคัญ?
ไม่ว่าผู้บริโภคคนไหนต่างก็คาดหวังสิ่งดีที่สุดจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งถ้าเป็นเรื่องอาหารด้วยแล้วการมี Food Safety เปรียบกับการสร้างความน่าเชื่อถือ และเสริมความมั่นใจ เมื่อผู้บริโภคตอบสนองเชิงบวกผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมส่งถึงธุรกิจให้เติบโต ดังนั้นเมื่อแบ่งแยกความสำคัญของ Food Safety จึงมี 2 รูปแบบ ดังนี้
1. ความสำคัญของ food safety ต่อผู้บริโภค
– สร้างความมั่นใจในการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบทุกประเภท
– มีสุขภาพที่แข็งแรงจากอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่ปลอดภัย
– ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มาจากการปนเปื้อนต่าง ๆ ที่อยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบ
2. ความสำคัญของ food safety ต่อผู้ประกอบการ
– เสริมความมั่นใจทั้งกับลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจ
– เสริมภาพลักษณ์ทีดีต่อแบรนด์และองค์กร
– เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดกับคู่แข่งรายอื่น
– เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า
– เพิ่มศักยภาพด้านบริหารจัดการภายในโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยให้มีระบบชัดเจน
หลักเกณฑ์และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหาร
หลักเกณฑ์และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหาร เปรียบได้กับข้อปฏิบัติพร้อมเกณฑ์กำหนดมาตรฐานซึ่งจะมีส่วนควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อน หรืออันตรายอื่นใดกับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องต่ออาหารตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางผู้บริโภค ปกติแล้วแนวทางเหล่านี้มักถูกกำหนดขึ้นจากหน่วยงานทั้งในประเทศและระดับสากล เช่น
1. มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices)
มาตรฐานขั้นพื้นฐานที่ต้องมีการควบคุมในระบบการผลิตไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีคุณภาพกับผู้บริโภค
2. มาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point System)
เป็นมาตรฐานระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหารโดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับอาหารตลอดห่วงโซ่และลดการกีดกันทางการค้าสำหรับประเทศนำเข้า
3. อย. FDA
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองด้านสุขภาพของผู้บริโภคจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ครีมบำรุง ฯลฯ พูดง่าย ๆ คือ ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ อย. กำหนดไว้จึงสามารถวางขายได้
4. Codex / Jecfa
เป็นหน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญและกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารจาก FAO ของ UN และ WHO เพื่อช่วยกำหนดปริมาณความเหมาะสมในการใช้งานวัตถุเจือปนอาหารให้ตรงตามมาตรฐานอย่างเหมาะสม
มาตรฐานการใช้วัตถุดิบเจือปนอาหารในอุตสาหกรรมอาหารทะเล
ด้านอุตสาหกรรมอาหารทะเลก็เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้วัตถุดิบเจือปนอาหารบางประเภท โดยขอสรุปมาตรฐานของปริมาณการใช้เบื้องต้นที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจกันมากขึ้น ดังนี้
– กรดเบนโซอิกในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำปรุงสุกไม่เกิน 2,000 ppm สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรมควัน หมักดอง แปรรูปต่าง ๆ ไม่เกิน 1,000 ppm
– สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือสารฟอกขาว ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม / วัตถุดิบ 1 กิโลกรัม
– สารกลุ่มฟอสเฟตในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไม่เกิน 2,200 ppm
– เมื่อพบปัญหาสามารถสืบย้อนกลับ และวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
ทั้งหมดนี้คือเรื่องของ Food Safety ที่โรงงานผลิตและนำเข้าเคมีอาหารจำเป็นต้องรู้ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งหลายก็ต้องศึกษาเอาไว้ด้วยเช่นกันเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และยังไม่ทำให้เกิดผลกระทบด้านอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย