ทำความรู้จัก “แซ็กคาริน” สารปรุงแต่งอาหารให้ความหวานแทนน้ำตาล

ในแวดวงของอุตสาหกรรมอาหารนอกจากวัตถุดิบหลักแล้วก็ยังมีเรื่องของ “สารปรุงแต่งอาหาร” เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติความอร่อยให้ถูกปากถูกใจของผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งกลุ่มสารปรุงแต่งประเภทที่ให้ความหวานถือเป็นหัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์จำนวนมาก นอกจากน้ำตาลแล้วก็มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ และ “แซ็กคาริน” (Saccharin) เองก็จัดอยู่ในหมวดดังกล่าวด้วยเช่นกัน จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกันอย่างละเอียดได้เลย

สารปรุงแต่งอาหารให้ความหวานแทนน้ำตาล คืออะไร?

สารปรุงแต่งอาหารให้ความหวานแทนน้ำตาล คือ วัตถุเจือปนในอาหารที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานแทนน้ำตาลจากธรรมชาติโดยยังสามารถให้รสชาติหวานกับอาหารและเครื่องดื่มได้ตามปกติ ซึ่งบางคนอาจเรียกว่า “น้ำตาลเทียม” ก็ให้ความหมายไม่แตกต่างกันนัก มีทั้งแบบให้พลังงาน เช่น กลุ่มน้ำตาลจากผลไม้ ไซลิทอล ซอร์บิทอล และไม่ให้พลังงาน หรือให้พลังงานต่ำกับร่างกาย เช่น ชูคราโลส แอสปาแตม สตีเวีย (สารสกัดจากหญ้าหวาน) รวมถึง แซ็กคารินก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

แซ็กคาริน คืออะไร?

แซ็กคาริน (Saccharin) หรือ ดีน้ำตาล คือ สารปรุงแต่งให้ความหวานแทนน้ำตาลประเภทหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มไม่ให้พลังงาน สามารถให้ความหวานแทนน้ำตาลธรรมชาติสูง 300 – 500 เท่า ทนความร้อนสูง ทนต่อกรดได้ดี ละลายน้ำน้อยและช้า จึงสามารถสร้างความหวานติดลิ้นเมื่อทานเข้าไป ลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น ถูกคิดค้นและใช้ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1879 ซึ่งในเมืองไทยได้รับอนุญาตสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหารและเครื่องดื่มแต่ต้องอยู่ภายใต้ปริมาณเหมาะสม ผ่านการเห็นชอบจาก อย. และมีการแจ้งไว้บนฉลากสินค้า

แซ็กคาริน พบในอาหารประเภทไหนบ้าง?

อย่างที่อธิบายไปว่าสารปรุงแต่งอาหารกลุ่มแซ็กคารินจะให้ความหวานได้สูงกว่าน้ำตาลธรรมชาติ 300 – 500 เท่า บรรดาผู้ผลิตอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจำนวนมากจึงมักนิยมนำไปใช้งานแทนน้ำตาลจริงกับอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องมีรสชาติหวาน เช่น ขนมหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่มหลากชนิด (น้ำอัดลม น้ำชา น้ำผลไม้ น้ำผักชนิดเนคต้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทที่มีการแต่งกลิ่นแต่งรส ฯลฯ) หมากฝรั่ง มาการีน ลูกอม รวมถึงยังให้กับผลิตภัณฑ์ประเภทผักดอง ผลไม้ดอง เนื่องจากให้ความหวานได้ดีแต่ไม่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำตาลชูโครส (น้ำตาลธรรมชาติ) แต่ใช้น้อยกว่ามาก จุลินทรีย์จึงไม่เติบโต และไม่สร้างปฏิกิริยาทำให้วัตถุดิบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลด้วย

ปริมาณการใช้งานที่ปลอดภัยและเหมาะสม

แม้จะได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มได้ในหลายประเทศรวมถึงเมืองไทยแต่ผู้บริโภคไม่ควรทานแซ็กคารินเกิน 5 มิลลิกรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน ตัวอย่างเช่น คุณหนัก 50 กิโลกรัม ไม่ควรได้รับแซ็กคารินเกินวันละ 250 มิลลิกรัม เป็นต้น

นี่คือข้อมูลที่น่าสนใจของ “แซ็กคาริน” หรือ ดีน้ำตาล สารปรุงแต่งอาหารให้ความหวานยอดนิยมอันดับต้น ๆ ซึ่งธุรกิจด้านอาหารจำนวนมากใช้งาน ทั้งนี้ต้องอย่าลืมเลือกจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน ไม่สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยเสมอ